Princess Srinagarindra Award Foundation





ตราสาร



หมวดที่  1
ชื่อเครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง
 

ข้อ 1 มูลนิธินี้มีชื่อว่า  มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ย่อว่า ม.ร.สว.  และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Princess Srinagarindra  Award  Foundation  under the Royal Patronage ย่อว่า  P.S.A.F.
ข้อ 2 เครื่องหมายของมูลนิธินี้ คือ รูปตราประจำพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีอักษรภาษาไทยคำว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระบรมราชูปถัมภ์ อยู่ตรงกลาง
ข้อ 3 มูลนิธินี้จัดตั้งขึ้นโดยสภาการพยาบาล
ข้อ 4 สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่  ณ  สำนักงานสภาการพยาบาล อาคารนครินทรศรี  เลขที่  88/20 หมู่ที่ 4  ตำบลตลาดขวัญ  อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี  11000

           
หมวดที่  2
วัตถุประสงค์

ข้อ 5 วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้ คือ
  5.1 เผยแพร่พระเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  5.2 มอบรางวัลแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงาน และ/หรือ  วิจัยดีเด่นทางด้านการพยาบาลอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ
  5.3 เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
  5.4 ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด


หมวดที่  3
ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน  และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ 6 ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรก คือ เงินสดจำนวน 22,731,096.13 บาท (ยี่สิบสองล้านเจ็ดแสนสามหมื่นหนึ่งพันเก้าสิบหกบาทสิบสามสตางค์) จากการบริจาคของสภาการพยาบาล
ข้อ 7 มูลนิธินี้อาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีดังต่อไปนี้
  7.1 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรม หรือนิติกรรมอื่น ๆ  โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือ ภาระติดพันอื่นใด
  7.2 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
  7.3 ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ


หมวดที่  4
คุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ

ข้อ 8 กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติ  ดังนี้
  8.1 มีอายุไม่ต่ำกว่า  20  ปีบริบูรณ์
  8.2 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ  หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  8.3 ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  8.4 ไม่เป็นผู้มีชื่อเสียงเสื่อมเสียทางศีลธรรม
ข้อ 9 กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
  9.1 ถึงคราวออกตามวาระ
  9.2 ตายหรือลาออกโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิ
  9.3 ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับ ข้อ 8
  9.4 เป็นผู้มีความประพฤติ และปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ออกโดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการมูลนิธิ


หมวดที่  5
การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 10 มูลนิธินี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิ  มีจำนวนไม่น้อยกว่า  20 คน แต่ไม่เกิน 35 คน
กรรมการมูลนิธิประกอบด้วย   
  10.1 ประธานกรรมการมูลนิธิ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  10.2 รองประธานกรรมการ คนที่ 1  คือ นายกสภาการพยาบาล
  10.3 รองประธานกรรมการ คนที่ 2  คือ อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 1
  10.4 เลขาธิการมูลนิธิ  คือ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ
  10.5 เหรัญญิก และตำแหน่งอื่น ๆ  ตามแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ 11 ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการผู้เริ่มจัดตั้งมูลนิธิเป็นผู้เลือกคณะกรรมการมูลนิธิขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย กรรมการตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ ได้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อกรรมการมูลนิธิท้ายข้อบังคับนี้
ข้อ 12 กรรมการมูลนิธิ นอกจากองค์ประธาน  รองประธานคนที่ 1  รองประธานคนที่ 2  และเลขาธิการอยู่ในตำแหน่งวาระละ  4 ปี
ข้อ 13 เพื่อให้การดำเนินงานของมูลนิธิได้เป็นไปโดยติดต่อกันเมื่อคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิได้ปฏิบัติหน้าที่มาครบ  2  ปี  (ครึ่งหนึ่งของวาระการดำรงตำแหน่ง)  ให้มีการจับสลากออกไปหนึ่งในสองของจำนวนกรรมการมูลนิธิที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินงานมูลนิธิครั้งแรก  และให้กรรมการมูลนิธิที่หมดวาระปฏิบัติหน้าที่กรรมการมูลนิธิต่อไป จนกว่านายทะเบียนจะได้แจ้งการรับจดทะเบียนกรรมการมูลนิธิชุดใหม่
ข้อ 14 การเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเป็นมติของที่ประชุม
ข้อ 15 กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือโดยการจับสลากในวาระแรก อาจได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก
ข้อ 16 ถ้าตำแหน่งกรรมการมูลนิธิว่างลง  ให้คณะกรรมการมูลนิธิที่เหลืออยู่ตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการมูลนิธิแทนตำแหน่งที่ว่าง กรรมการมูลนิธิผู้ได้รับการแต่งตั้งซ่อมอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระของผู้ที่ตนแทน


หมวดที่  6
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 17 คณะกรรมการมูลนิธิมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการวางแผนและดำเนินงานทั้งปวง เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ  รวมทั้งการดูแลรักษาและการจัดการกิจการต่างๆ ของมูลนิธิตลอดจนการกำหนดนโยบาย  การตราระเบียบต่างๆ ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ การเลือกหรือแต่งตั้งซ่อมกรรมการมูลนิธิ  การให้กรรมการมูลนิธิ (หรือเจ้าหน้าที่มูลนิธิ) คนใดพ้นจากตำแหน่งและการแต่งตั้งคณะกรรมการ  และอนุกรรมการเพื่อดำเนินงานของมูลนิธิ


หมวดที่  7
การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ 18 คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุก ๆ ปี  ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมและต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 19 การประชุมวิสามัญอาจมีได้เมื่อองค์ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทนขอให้มีการประชุมก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้
ข้อ 20 กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนด
ข้อ 21 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน องค์ประธานในที่ประชุมจะทรงมีพระราชวินิจฉัย
ข้อ 22 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  องค์ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือประธานที่ประชุมมีอำนาจเชิญ  หรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุม ในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือผู้สังเกตการณ์หรือเพื่อชี้แจง  หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้

 
หมวดที่  8
การเงิน

ข้อ 23 องค์ประธานกรรมการมูลนิธิ และรองประธานกรรมการมูลนิธิ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกินหนึ่งแสนบาท  ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก  เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วน  ให้อยู่ในพระวินิจฉัยขององค์ประธานกรรมการมูลนิธิที่จะทรงอนุมัติให้จ่ายได้ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป
ข้อ 24 เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกินสองหมื่นบาท
ข้อ 25 เงินสดของมูลนิธิให้นำไปฝากธนาคารใดธนาคารหนึ่ง หรือสถาบันการเงินอื่นใด  ที่รัฐบาลให้การค้ำประกัน สุดแต่คณะกรรมการมูลนิธิเห็นสมควร
ข้อ 26 การสั่งจ่ายเงินในเช็ค หรือตั๋วสั่งจ่ายเงินจะต้องมีลายเซ็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1 หรือผู้ทำการแทนและเหรัญญิกหรือกรรมการผู้รับมอบอำนาจลงนามร่วมด้วยทุกครั้ง
ข้อ 27 เมื่อผู้บริจาคเงินสมทบหรือได้เงินมาโดยวิธีอื่นๆ  เหรัญญิกจะต้องทำใบรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐานใบรับเงิน มีลายเซ็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1  หรือผู้ทำการแทนร่วมกับลายเซ็นของเหรัญญิกด้วย
ข้อ 28 มูลนิธิจะต้องมีผู้เก็บรักษาบัญชีรายจ่าย บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน  ตลอดจนบัญชีอย่างอื่นที่จำเป็นเพื่อแสดงฐานะของมูลนิธิโดยถูกต้อง  ทั้งนี้ จะต้องเก็บรักษาเอกสารใบสำคัญต่างๆ  อันเกี่ยวกับการบัญชีไว้ให้ผู้สอบบัญชีตรวจและเป็นหลักฐานของมูลนิธิด้วย
ข้อ 29 ผู้สอบบัญชีของมูลนิธิ  ต้องไม่เป็นกรรมการมูลนิธิ  หรือลูกจ้างของมูลนิธิ
ข้อ 30 ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับการบัญชีของมูลนิธิและในการสอบบัญชีมีอำนาจสอบถามกรรมการมูลนิธิ และพนักงานใด ๆ ของมูลนิธิได้
ข้อ 31 ให้ทำบัญชีงบดุลประจำปีซึ่งสิ้นสุดตามปฏิทิน  เพื่อแสดงฐานะการเงินของมูลนิธิ  เมื่อผู้สอบบัญชีรับรองแล้ว ให้เสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 32 การจ่ายเงินของมูลนิธิในกรณีใด ๆ  เมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมแล้วอาจพิจารณาจ่ายเป็นงวดได้
ข้อ 33 ในการจ่ายเงินของมูลนิธิประจำปี จะเป็นงบประมาณประจำปีก็ได้


หมวดที่  9
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

ข้อ 34 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้โดยที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  ซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีมติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติม   ข้อบังคับต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการ ที่เข้าประชุม


หมวดที่  10
การเลิกมูลนิธิ

ข้อ 35 การเลิกล้มมูลนิธินั้น  นอกจากที่กฎหมายได้บัญญัติไว้แล้วให้มูลนิธินี้เป็นอันสิ้นสุดลง  โดยมิต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเลิกในกรณี ดังต่อไปนี้
  35.1 เมื่อกรรมการมูลนิธิมีมติให้เลิกกิจการด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด
  35.2 เมื่อมูลนิธิหากรรมการมูลนิธิให้ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับมิได้
  35.3 เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ
ข้อ 36 ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปด้วยเหตุใดก็ตามให้ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลือตกเป็นกรรมสิทธิแก่สภาการพยาบาล

    
หมวดที่  11
บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ 37 การตีความในข้อบังคับของมูลนิธิ  หากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการมูลนิธิ  โดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 38 ในกรณีที่ข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยมูลนิธิในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ
ข้อ 39 มูลนิธิต้องไม่กระทำการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคล หรือคณะบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง


HASHTAG : #ตราสาร